Home เทคนิคการสอน ทำความรู้จัก Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้าน
ทำความรู้จัก Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้าน

ทำความรู้จัก Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้าน

by admin admin
1352 views

ทำความรู้จัก Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้าน

นักเรียนต้องการอะไรจากครู เมื่ออยู่ในห้องเรียน??

ทำความรู้จัก Flipped Classroom ห้องเรียนกลับด้าน
ที่มา https://factsmgt.com/blog/flipped-classrooms-101/

: ต้องการให้ครูช่วยตอบคำถามคาใจ ในสิ่งที่เรียน

: ต้องการให้ครูชี้แนะขณะที่ทำการบ้านหรืองานที่ครูมอบหมาย

มากกว่าที่จะฟังครูบรรยายเนื้อหาหรือทบทวนบทเรียน??

แล้วถ้านักเรียนทำความเข้าใจในเนื้อหาผ่านการบรรยายที่บันทึกไว้ ขณะที่ทำการบ้านหรืองานที่มอบหมาย ส่วนในห้องเรียนจะเป็นช่วงเวลาสำหรับกิจกรรมอื่นๆ หรือการทดสอบ การเรียนวิธีนี้ Bergmann and Sams ผู้เขียนหนังสือ Flip Your Classroom: Reach Every Student in Every Class Every Day (ISTE/ASCD, 2012) ซึ่งลองใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Flipped Classroom เมื่อ 8 ปีที่แล้ว พบว่านักเรียนของพวกเขามีความเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ได้ลึกมากขึ้น (Bergmann J. and Sams A. , 2012)

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของครูสอนวิชาเคมี โรงเรียนมัธยมในชนบทที่ Colorado ที่ใส่ใจว่านักเรียนที่ขาดเรียนด้วยสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยความเจ็บป่วยหรือทำกิจกรรม จะเรียนทันหรือไม่ ปัจจุบัน Bergmann และ Sams เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Flipped Learning Network เครือข่ายที่เป็นเสมือนจุดนัดพบของการ Flipped แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนการสอนในรูปแบบที่เรียกว่า Flipped classroom

การเรียนรู้ในห้องเรียนแบบ Flipped

“Flipped Classroom” หมายถึงกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งซึ่งเปลี่ยนการใช้ช่วงเวลาของการบรรยายเนื้อหา (Lecture) ในห้องเรียนเป็นการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อฝึกแก้โจทย์ปัญหา และประยุกต์ใช้จริง ส่วนการบรรยายจะอยู่ในช่องทางอื่นๆ เช่น วิดีโอ วิดีโอออนไลน์ podcasting หรือscreencasting ฯลฯ ซึ่งนักเรียนเข้าถึงได้เมื่ออยู่ที่บ้านหรือนอกห้องเรียน ดังนั้น การบ้านที่เคยมอบหมายให้นักเรียนฝึกทำเองนอกห้องจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในห้องเรียน และในทางกลับกัน เนื้อหาที่เคยถ่ายทอดผ่านการบรรยายในห้องเรียนจะเปลี่ยนไปอยู่ในสื่อที่นักเรียนอ่าน-ฟัง-ดู ได้เองที่บ้านหรือที่ไหนๆ ก็ตาม (Kachka, 2012)  ผู้สอนอาจทิ้งโจทย์ หรือให้นักศึกษาสรุปความเนื้อหานั้นๆ เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของนักศึกษา และนำมาอภิปรายหรือปฏิบัติจริงในห้องเรียน

Flipped Classroom เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการจัดการสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ (learning environment) ท่ามกลางความต้องการที่จะลดอัตราส่วนระหว่างครูกับนักเรียนของการเรียนในห้อง อาจดูเหมือนว่าการสอนแบบ Flipped ท้าทายต่อขนบของการสอนที่ให้ความสำคัญกับการบรรยาย และไม่ให้ความสำคัญกับการบรรยายอีกต่อไป แต่ที่จริงแล้ว Flipped ไม่ได้ต่อต้านวิธีการสอนแบบบรรยาย Flipped Classroom มีหลายรูปแบบและไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพียงแต่ Flipped ตั้งคำถามกับการสอนแบบบรรยายที่เป็น teacher-centered lectures และสนใจว่าจะทำให้วิธีการสอนแบบบรรยายมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไรบ้างมากกว่า

ลองคิดดูว่าในการเรียนที่เน้นการบรรยายและถ่ายทอดเนื้อหาของบทเรียนเป็นหลักนั้น ผู้เรียนจะมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการจดจำในสิ่งที่ผู้สอนถ่ายทอดมากกว่า แต่ในทางตรงข้าม รูปแบบของ Flipped Classroom ที่เน้นกิจกรรมการเรียนรู้ให้ได้ทำกิจกรรมที่เน้นกระบวนการคิดเกี่ยวกับแนวคิดหลักหรือแก่นของความรู้นั้นๆ (core concept) ช่วยให้ผู้สอนทราบว่าผู้เรียนยังต้องการความรู้หรือขาดความเข้าใจในส่วนใด ต้องการคำชี้แนะอย่างไรบ้าง บรรยากาศในห้องเรียนลักษณะนี้ดีกว่าการมุ่งบรรยายสาระความรู้ที่ผู้สอนต้องการให้ครบถ้วนตามแผนการสอนในลักษณะของการสื่อสารทางเดียว แต่ไม่สามารถสร้างส่วนร่วมหรือดึงดูดความสนใจจากผู้เรียน ฉะนั้น เหตุผลประการหนึ่งที่น่าสนใจของ Flipped คือ การเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียน เนื่องจากกิจกรรมที่ให้ฝึกฝนนั้นจะช่วยให้ผู้สอนรู้ feedback ว่านักเรียนมีความรู้ มีทักษะหลังจากการเรียนไปแล้วดังที่คาดหวังไว้หรือไม่ได้เป็นอย่างดี

Flipped classroom: the latest buzz in educational trends?

แนวคิดเรื่อง Flipped Classroom ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด หากพูดถึงมิติเพียงแค่การให้นักเรียนอ่านเนื้อหาล่วงหน้าและมาทำกิจกรรมในห้อง ลองนึกถึงการเรียนวิชาวรรณกรรมซึ่งนักเรียนต้องอ่านนวนิยายมาก่อนล่วงหน้าแล้วนำมาวิเคราะห์ต่อในห้องเรียน หรือการเรียนวิชาด้านกฎหมายซึ่งนำสิ่งที่อ่านมาแล้วมาอภิปรายต่อในบรรยากาศแบบ Socratic seminar ก็นับได้ว่าเข้าข่ายลักษณะของ Flipped Classroom ได้ในส่วนหนึ่ง (Berrett, 2012) สิ่งที่ Eric Mazur ซึ่งเป็นอาจารย์/นักฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Harvard ใช้วิธีการสอนที่เรียกว่า Peer instruction ที่เน้นการฝึกกระบวนการคิดขั้นสูงมากกว่าการจดจำเนื้อหา และทำมาต่อเนื่องมาแล้วกว่า 21 ปี หรือโครงการ SCALE-UP ที่ North Carolina State University  (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://scaleup.ncsu.edu/) ก็สอดคล้องในวิธีการสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนตั้งใจและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เชิงรุก การใช้เทคนิคและเครื่องมือการเรียนรู้ต่างๆ เป็นแนวคิดที่คล้ายกับการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบ Flipped  โดยจุดร่วมของวิธีการสอนเหล่านี้คือการตอบโจทย์ว่าจะทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ในห้องเรียนหรือมีส่วนร่วมในห้องเรียนมากขึ้น (engagement) ได้อย่างไร ผ่านการเรียนรู้เชิงรุก การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative Learning) และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอนและการเรียนรู้ (ICT for teaching and learning) เป็นต้น

อ้างอิง : https://celt.li.kmutt.ac.th/km/index.php/get-to-know-flip-classroom/

Related Posts

Leave a Comment